ระบบติดตามการตรวจวัดมลพิษแบบต่อเนื่อง (CEMs) article

ระบบติดตามการตรวจวัดมลพิษแบบต่อเนื่อง (CEMs) article

เป็นระบบการติดตามตรวจวัดก๊าซมลพิษที่ระบายออกจากแหล่งกำเนิดปล่อง โดยระบบที่สมบูรณ์จะประกอบด้วย 2 ส่วน คือ

    ระบบติดตามผลการตรวจวัดมลพิษทางอากาศจากปล่องซึ่งติดตั้งที่โรงงาน (Data at an individual factory)
    ระบบเครือข่ายที่รับ-เรียกข้อมูลตรวจวัดจากโรงงานมาเก็บและรายงานผลไว้ที่ศูนย์กลาง

(CEM Network : Continuous Emission Monitoring Network) คือ ข้อมูลการระบายมลพิษที่ได้รับจะมีจำนวนมาก ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง เช่น สามารถใช้ชี้บ่งบอกประสิทธิภาพของระบบบำบัดมลพิษ และชี้ว่าการระบายมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อมในระยะเวลาต่างๆ อยู่ภายใต้มาตรฐานการระบายมลพิษที่เกี่ยวข้องหรือไม่ เป็นต้น  

ข้อมูลการระบายมลพิษอย่างต่อเนื่องที่เป็นตัวแทนมลพิษจากปล่องเป็นประโยชน์ทั้งแก่ เจ้าของโรงงาน เจ้าหน้าที่หน่วยงานราชการผู้มีหน้าที่กำกับดูแล และประชาชน หรือเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการทำ Emission trading เป็นต้น

ในประเทศไทย ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดให้โรงงานประเภทต่างๆ ต้องติดตั้งเครื่องมือหรืออุปกรณ์พิเศษ เพื่อตรวจสอบคุณภาพอากาศจากปล่องแบบอัตโนมัติ พ.ศ 2544 กำหนดให้โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ประเภทโรงผลิตไฟฟ้า โรงผลิตปูนซิเมนต์ โรงผลิตเยื่อกระดาษ ที่ตั้งในพื้นที่เขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมผาแดง นิคมอุตสาหกรรมตะวันออก นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย จังหวัดระยอง ต้องติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดแบบต่อเนื่อง โดยให้ใช้วิธีตามข้อกำหนดแนวทางขั้นต่ำสำหรับแหล่งกำเนิดมลพิษใหม่ (New Source Performance Standards ; NSPSs)ที่ต้องติดตั้งระบบ CEMs และให้มีรายละเอียดตามประมวลระเบียบของสหรัฐ (Code of Federal Regulation ; CFR) ใน Title 40 Part 60 (40 CFR 60) โดยแหล่งกำเนิดมลพิษขนาดใหญ่ที่ติดตั้งระบบ CEMs ควรตรวจวัดค่าความทึบแสง (Opacity) ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน (NOX) ด้วย

กฎระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับระบบ CEMs ของประเทศสหรัฐอเมริกา มีขั้นตอน 2 ส่วน ได้แก่

    ส่วนที่เป็นข้อกำหนดสำหรับการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัด (Installation/ certification requirements)
    และขั้นตอนการได้มาซึ่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ (Quality Assurance; QA/QC)

ซึ่งรายละเอียดการปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆ จะถูกกำหนดไว้ในเอกสารที่เรียกว่า “performance specifications (PS’s)” ที่กำหนดใน appendix B ของ 40 CFR part 60 ตามชนิดของสารมลพิษ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 5 ฉบับ แต่ส่วนที่สำคัญที่สุดจะอยู่ใน Appenxdix F to Part 60 - Quality Assurance Procedures ที่มีรายละเอียดเกี่ยวข้องกับการกำหนดให้ผู้ติดตั้งระบบ CEMs ต้องดำเนินการทำ “Relative Accuracy Test Audit (RATA)” ปีละ 1 ครั้ง ทุกปีภายหลังการติดตั้ง และทำ “Cylinder Gas Audit (CGA)” ปีละ3 ครั้ง และ ”Relative Accuracy Audit (RAA)” ปีละ 3 ครั้ง ทุกปีภายหลังการติดตั้ง สำหรับประเทศไทยวิธีการหรือข้อกำหนดดังกล่าว อย่างไม่มีการประกาศใช้หรือกำหนดไว้

Visitors: 12,450